ภาษาไทย มรดกล้ำค่า

ภาษาไทยมรดกล้ำค่า
     ภาษานอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสื่อสารแล้ว ภาษายังเป็นสิ่งบ่งบอกความเป็นชาติของคนในสังคม
     ภาษาไทย ภาษาที่มีเอกลักษณ์มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากภาษาอื่นทั้งตัวอักษรซึ่งมีเป็นของตนเอง ตัวสะกดตามมาตราเป็นภาษาดนตรีที่มีจังหวะความคล้องจอง มีการเปลี่ยนระดับเสียงของคำด้วยวรรณยุกต์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง
      ขณะที่ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ ซึ่งควรแก่การทำนุบำรุงส่งเสริม อนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืนตลอดไปยิ่งในยุคปัจจุบันที่วิชาการ เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วทำให้เกิดเทคนิคใหม่ ๆ ในการติดต่อสื่อสารซึ่งเน้นความสะดวกรวดเร็วเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ
     ภาษาไทย ภาษาสื่อกลางในการติดต่อซึ่งมีความหมายผูกพันกับการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทยได้รับผลกระทบจากอิทธิพลความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว ทำให้ภาษาที่ใช้ในปัจจุบันทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างน่าวิตก ซึ่งถ้าไม่เร่งแก้ไขป้องกัน ภาษาไทยก็จะยิ่งเสื่อมลง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัยจึงเสนอให้รัฐบาลไทยจัดตั้ง วันภาษาไทย ขึ้นเพื่อกระตุ้น ปลุกจิต สำนึกคนไทยให้ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญของภาษาไทยตลอดจนร่วมมือบำรุงรักษา ส่งเสริมอนุรักษ์เอกลักษณ์ของภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติตลอดไป
     จากความเป็นมาของวันภาษาไทยที่กล่าวไว้ในหนังสือวันภาษาไทยของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมข้างต้น ยังขยายความเพิ่ม เติมการกำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีเป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เนื่องด้วยตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ การใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายอย่างดีเยี่ยม แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยห่วงใยภาษาไทยเป็นที่ประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมการประชุม 
    ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดให้วันดังกล่าวของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สนองพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในด้านภาษาไทย รวมทั้งกระตุ้นให้สถาบันการศึกษา องค์กร หน่วยงานต่าง ๆ  ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษา ร่วมใจกันใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง รักษาภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติให้งดงามและยั่งยืน
    ปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาษาไทยที่ผ่านมามีหลากหลายทั้งการพูด อ่าน เขียน โดยเฉพาะการออกเสียง ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน ศิริวรรณ์ ฉายะเกษตริน ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต ๑ หัวหน้าโครงการหมอภาษาพัฒนาเยาวชนชี้ให้เห็นภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาษาไทย พร้อมการแก้ปัญหาการออกเสียง การพัฒนาทักษะการอ่าน การรักษาภาษาไทยแบบฉบับหมอภาษาว่า โครงการหมอภาษาพัฒนาเยาวชนเกิดขึ้นมาหลายปี เริ่มจากครั้งที่รัฐบาลประกาศให้มีวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้นปีแรก ครั้งนั้นกรมสามัญศึกษาและ สวช. ได้ร่วมกันจัดงานเชิดชูค่าภาษาไทยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้น ซึ่งมีกิจกรรมรณรงค์อนุรักษ์ภาษาไทยเกิดขึ้นมากมายและเพื่อสนองพระราชดำรัสโครงการนี้จึงเกิดขึ้น 
    “ปัญหาการใช้ภาษาไทยมีอยู่มากในทุกทักษะทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน จะทำอย่างไรให้เด็กเยาวชนตระหนักในสิ่งที่เกิดขึ้น อีกไหนจะมีวัฒนธรรมนำเข้าจากสื่อต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามาส่งผลให้ค่านิยมของเด็กเปลี่ยนไป อย่างการทำเสียงเลียนแบบภาษาต่างประเทศ ติดการออกเสียง จ เป็นเสียง ช อย่าง เก็บใจ เป็นเก็บ  ไช ฯลฯ  
    นอกจากนี้การออกเสียงคำควบกล้ำ ร ล เสียง ฉ ช ส ซ ทำเสียงเหมือนภาษาต่างประเทศวรรณยุกต์เคลื่อน ผันเสียงวรรณยุกต์ ไม่ถูกต้องยังคงเป็นปัญหามากขณะนี้ โดยเฉพาะอักษรต่ำซึ่งผันไม่ตรงตามมาตรา  เด็ก ๆ ผันไม่ได้ เช่นเดียว กับการพูดคำทับศัพท์ ซึ่งหากคนไทยไม่ชอบพูดภาษาไทย ไม่ภูมิใจ ที่จะพูดภาษาไทยแล้วใครจะพูด สิ่งเหล่า นี้ต้องหันกลับมามองใน ปัญหา”
    การให้ความรู้ที่ถูกต้องโดยเฉพาะในเรื่องการออกเสียงภาษาไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญวันภาษาไทย  แห่งชาติปีนี้ที่ศูนย์วัฒน ธรรมจึงมีมหกรรมหมอภาษา หลากกิจกรรมเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ 
     ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้นึกถึงความเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการรักษา หมอภาษาจึงเกิดขึ้น โดยมีวิธีการรักษาเหมือนกับการพบแพทย์ที่โรงพยาบาล มีการทำประวัติ วินิจฉัยโรค บำบัดรักษา จ่ายยา ฯลฯ ฝึกเยาวชนให้รู้จักเข้าใจภาษาไทย แก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูก
      หมอภาษาพัฒนาเยาวชนนอกจากรู้จักกันในลักษณะร้านหมอภาษา คลินิกภาษาไทยแล้ว เวลานี้ได้ก้าวหน้าเป็นหลักสูตรสาระเพิ่มเติมกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยเปิดสอนในโรงเรียน  ต่าง ๆ ช่วยแก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยเด่นชัดขึ้น ส่วนวิธีการแก้ปัญหาพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยของเยาวชน ประชาชน รวมไปถึงสื่อมวลชนที่ผ่านมาจัดจำลองสถานการณ์เหมือนการรักษาที่โรงพยาบาล คลินิก มีการทำประวัติ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะช่วยฝึกทักษะการเขียน ฝึกคัดลายมือให้กับเด็ก ๆ ในโครงการ  
    ประเมินการอ่านออกเสียงจะทำให้รู้ว่าป่วยเป็นอะไร แบบฝึกหัดก็จะมีโรคต่าง ๆ ให้ได้ทดสอบอย่างโรค ซ ส อักเสบ วรรณยุกต์เคลื่อนเรื้อรัง ควบกล้ำเป็นพิษ ตัวสะกดอ่อนแอ ฯลฯ ซึ่งเมื่อพบหมอตรวจวินิจฉัยโรคก็จะรู้ว่าเป็นโรคอะไร จากนั้นบำบัดเฉพาะโรค ตรวจหลังการบำบัด ฯลฯ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนรู้ของเยาวชนให้มีความน่าสนใจต่างไปจากการเรียนภาษาไทยในห้องเรียน”
    ปัจจุบันปัญหาภาษาไทยที่ยังคงเกิดขึ้น พบว่าการออกเสียง ส ร ล ยังไม่ถูกต้อง พูดไทยคำอังกฤษคำก็ยังมีอยู่อีกมาก ซึ่งนอกจากการแก้ปัญหาการออกเสียงแล้ว โครงการนี้ยังพัฒนาด้านการเขียน ฟัง พูดและการอ่านร่วมด้วย
    ขณะที่ภาษาช่วยพัฒนามนุษย์ให้เกิดการเรียนรู้สามารถสร้างสรรค์ความเจริญนานัปการให้แก่ชีวิต 
    เมื่อยังคงต้องใช้ภาษาในทุก ๆ วันก็ควรที่จะช่วยกันปกป้อง ดูแลรักษา โดยเฉพาะภาษาไทย ภาษาสำคัญของชาติที่ควรร่วมใจกันพิทักษ์เชิดชูคุณค่าของภาษาไทยให้คงอยู่สืบไปอย่างมั่นคง
 ทีมวาไรตี้ (พงษ์พรรณ บุญเลิศ)
เดลินิวส์
1 สิงหาคม 2548
 
     
 
   

เกี่ยวกับ krujad

female , tall and thin
ข้อความนี้ถูกเขียนใน Uncategorized คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น